เลขที่อนุมัติ ฆสพ.สบส. 7542/2565

รู้จัก “ฮีทสโตรก” อันตรายจากอากาศร้อน

รู้จัก “ฮีทสโตรก” อันตรายจากอากาศร้อน

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน โรคสำคัญที่สามารถพบได้บ่อยในทุก ๆ ปี และสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ คือ “โรคฮีทสโตรก (Heatstroke)” หรือโรคลมแดด ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ทัน ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงผิดปกติจนเกิดอันตราย โดยจะมีความเสี่ยงมากขึ้นกับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ

อาการของโรคฮีทสโตรก (Heatstroke)

  • อุณหภูมิร่างกายร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก
  • กระหายน้ำมากผิดปกติ
  • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ อาเจียน
  • ความรู้สึกตัวน้อยลง เกิดอาการมึนงง เพ้อ
  • มีอาการชักเกร็ง หรือหมดสติ

ทำอย่างไรเมื่อพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก (Heatstroke) ?

  • นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม โดยให้นอนราบ และยกเท้าสูง
  • คลายเสื้อผ้า และราดน้ำเย็นลงบนตัวผู้ป่วยเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง
  • ใช้พัดลมเป่า และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณคอ รักแร้ ศีรษะเพื่อช่วยระบายความร้อน
  • หากผู้ป่วยมีสติสามารถกลืนได้ ให้ดื่มน้ำ หรือเกลือแร่เพื่อทดแทนของเหลวที่สูญเสียไป
  • หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

โรคฮีทสโตรก (Heatstroke) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในฤดูร้อน โดยเฉพาะในปีนี้ที่อาจมีอุณหภูมิสูงมากกว่า 40 องศา ซึ่งโรคดังกล่าวไม่ใช่แค่การหน้ามืด เป็นลมโดยทั่วไป แต่สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นทุกคนจึงควรเฝ้าระวัง และป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่อึดอัด และดื่มน้ำให้เพียงพอ

หากพบว่าตนเองเริ่มมีอาการผิดปกติคล้ายอาการของโรคฮีทสโตรก (Heatstroke) ควรรีบเข้าที่ร่ม หรือบริเวณที่มีอากาศเย็น และดื่มน้ำให้มาก ๆ แต่ถ้าหากพบผู้ที่มีอาการผิดปกติ ควรรีบช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้อง และนำตัวส่งโรงพยาบาลหากมีอาการรุนแรง

Reference

กลุ่มประชาสัมพันธ์/กลุ่มอำนวยการอธิบดี. (4 เมษายน 2564). เปิด 3 สัญญาณเตือนอาการ ‘ฮีทสโตรก’ ต้องรีบ

แก้ไขไม่เช่นนั้นอาจถึงตาย. กรมกิจการผู้สูงอายุ. https://www.dop.go.th/th/gallery/1/4116

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์. (8 พฤษภาคม 2566). ปลัด สธ. ห่วงค่าดัชนีความร้อนสูง ทำประชาชนเกิดฮีทสโตรก

แนะคนทำงานกลางแดดดื่มน้ำมากๆ เข้าที่ร่มเป็นระยะ. Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. https://www.hfocus.org/content/2023/05/27617

Relate Article