ความเครียดไม่ได้กระทบแค่ใจแต่ทำ “ลำไส้แปรปรวน”

ความเครียดไม่ได้กระทบแค่ใจแต่ทำ “ลำไส้แปรปรวน”

“ความเครียดกับโรคลำไส้แปรปรวนนั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก” เพราะเวลาที่เรารู้สึกโกรธ ตื่นเต้น เครียด หรือโศกเศร้า จะส่งผลให้ลำไส้ใหญ่เกิดการบีบตัวผิดปกติ ซึ่งก็อาจจะตอบข้อสงสัยได้ว่าทำไมเวลาที่เราเครียด หรือตื่นเต้นมากๆ ถึงมีอาการปวดท้อง หรือท้องไส้ปั่นป่วนได้

โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome; IBS) เป็นโรคทางระบบทางเดินอาหารที่พบได้มากถึง 10-20% ของประชากรทั่วโลก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของลำไส้ส่วนปลาย ได้แก่ ปลายลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก ที่มีการบีบตัวมากเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูกหรือท้องเสีย

แม้จะยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของการเกิดภาวะลำไส้แปรปรวนได้อย่างแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยร่วมกันที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะลำไส้แปรปรวน โดยหนึ่งในนั้น คือความเครียด วิตกกังวล และปัญหาซึมเศร้า ส่วนปัจจัยอื่นๆ เป็นปัจจัยทางด้านกายภาพ เช่น การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ ทำให้ลำไส้เกร็งตัว เกิดการบีบตัวอย่างรุนแรงจึงทำให้เกิดการปวดเกร็งลำไส้

การจัดการความเครียดจึงเป็นส่วนสำคัญในการบรรเทาอาการของ IBS วิธีการบรรเทาความเครียดที่ได้ผลอาจรวมถึงการฝึกจิตใจ, การออกกำลังกาย, การนอนหลับที่เพียงพอ, และการปรึกษากับนักจิตวิทยา หรือนักบำบัด ถ้าสุขภาพลำไส้ดี ฮอร์โมนความสุขทำงานเป็นปกติ อารมณ์ก็ดีขึ้น และส่งผลกลับมาที่ลำไส้อีกครั้ง ทำให้ร่างกายสุขภาพดีตามไปด้วย

อาการของโรคลำไส้แปรปรวน
  • ปวดท้อง
  • การถ่ายอุจจาระผิดปกติ (ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง หรือ ท้องผูก)
  • ท้องอืด มีแก๊ส
ปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
  • การแพ้อาหาร สำหรับบางคนอาหารบางประเภทสามารถกระตุ้นการเกิดโรค IBS ได้
  • ความเครียด
  • ฮอร์โมน ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรค IBS สูงกว่าเพศชาย เนื่องจากผู้หญิงมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจึงมีแนวโน้มที่จะพบโรคลำไส้แปรปรวนได้มากกว่า
ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นลำไส้แปรปรวน
  • ไม่เครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หัดเป็นคนอารมณ์ดี ไม่หงุดหงิดง่าย ลดความวิตกกังวลบางเรื่องลง จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้มากกว่า 30 %
  • เรื่องของอาหารการกิน พฤติกรรม เช่น ลดการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือไข่ ซึ่งเป็นโปรตีนย่อยยาก เน้นการกินอาหารประเภทที่ย่อยง่าย เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง และเนื้อปลา
  • หลีกเลี่ยงการกินของมัน ของทอด เบเกอรีที่อุดมไปด้วยนม เนย เปลี่ยนมากินอาหาร ประเภทผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใย
  • กินอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร ไม่ควรเร่งรีบกินอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด ซึ่งจะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง โดยอาการจะเกิดอยู่เรื่อยๆ ทำให้เกิดความหงุดหงิด รำคาญ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และ การทำงาน ที่สำคัญบางครั้งโรคลำไส้แปรปรวน อาจมีอาการคล้ายกับโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น มะเร็งลำไส้ ดังนั้นเมื่อมีอาการอย่างที่บอก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม V Precision Clinic เรามีทีมแพทย์คอยแนะนำ ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และทีมงาน ที่มีความรู้ความชํานาญ เพื่อดูแลสุขภาพของคุณเฉพาะบุคคล เข้ามาปรึกษาที่ V Precision Clinic