เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงของการเป็นโรคต่าง ๆ ก็มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากโรคส่วนใหญ่มักส่งผลมาจากความเสื่อมของร่างกายอันมาจากความชรา ซึ่ง 1 ในโรคเหล่านั้น คือโรคทางระบบประสาท และสมองอย่างหลอดเลือดสมอง หรืออัลไซเมอร์ที่เราคุ้นเคยกัน แต่อีกโรคหนึ่งที่มีความน่ากลัว และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คือ “พาร์กินสัน” โรคที่หลายคนอาจรู้จักว่าเป็นโรคที่จะมีอาการสั่น ในความเป็นจริงแล้วเป็นโรคที่อันตราย และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยสูงมาก
สาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสัน
พาร์กินสัน มีสาเหตุมาจากสารในร่างกายที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหว หรือสารโดปามีน (Dopamine) ทำงานผิดพลาด ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของระบบประสาทบริเวณก้านสมอง และนำไปสู่ “โรคพาร์กินสัน” เพราะฉะนั้นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเป็นโรคนี้ คือความแก่ชรา แต่ในปัจจุบัน อายุของผู้ที่ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันก็มีอัตราลดลงมากขึ้น โดยอาจมีปัจจัยเร่งอื่น ๆ ดังนี้
- พันธุกรรม
- การได้รับความกระทบกระเทือนทางศีรษะ
- การขาดการออกกำลังกาย
- การได้รับยาบางชนิด
- การได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
ความอันตรายของโรคพาร์กินสัน
นอกจากมีอาการเคลื่อนไหวช้าซึ่งเป็นอาการหลักที่แท้จริงของโรคพาร์กินสันแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ได้แก่
- อาการสั่น โดยเฉพาะตอนที่ไม่ได้ขยับร่างกาย โดยมักจะเป็นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
- อาการจิกเกร็ง กล้ามเนื้อเกร็ง
- การตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้าลง
- อาจมีปัญหาเรื่องหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้
- ปัญหาทางด้านจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า
รวมถึงอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของคุณภาพชีวิตที่ลดลง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น การล้ม การเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากสูญเสียความสามารถในการทรงตัว ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งหากปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด
โรคทางระบบประสาท และสมองอื่น ๆ
โรคทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นกับคนไทยบ่อยครั้งไม่ได้มีเพียงแค่โรคพาร์กินสัน แต่ยังมีโรคอื่น ๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดในสมองแตก เป็นต้น ซึ่งจะมีอาการ และสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากปัจจัยด้านอายุที่มากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ยากขึ้นทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น หากมีอาการต่าง ๆ ที่ผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ทั้งโรคพาร์กินสัน และโรคทางระบบประสาท และสมองชนิดอื่น ๆ มีความอันตราย รวมถึงสามารถส่งผลร้ายแรงกับผู้ป่วยได้ ดังนั้น ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ และป้องกันโรคเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการรักษาระยะยาวแบบประคองอาการ หรือการเกิดอาการร้ายแรงต่าง ๆ ตามมา
Reference
ThaiHealth Official. (04 สิงหาคม 2558). คนไทยป่วยโรคระบบประสาทและสมองเพิ่มขึ้น.
https://www.thaihealth.or.th/?p=259337
ThaiHealth Official. (08 มีนาคม 2556). 75% ผู้ป่วยพาร์กินสันชอบละเมอ ไร้คนดูแล อาจตายได้.
https://www.thaihealth.or.th/?p=278926
ThaiHealth Official. (14 มีนาคม 2561). โรคพาร์กินสัน.