เลขที่อนุมัติ ฆสพ.สบส. 7542/2565

ระวังโรคไข้หูดับ

ระวังโรคไข้หูดับ

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้พบในทางเดินหายใจ และในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อสู่คนได้ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา และการกินเนื้อหมู และเลือดหมูที่ปรุงสุกๆ ดิบ ๆ หรือการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมู ส่วนใหญ่โรคไข้หูดับ มาจากหมูที่เป็นอาหารของมนุษย์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยเฉลี่ยใน 3 วัน มีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด ทําให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบได้
โรคหูดับ ใครเสี่ยงบ้าง
  •  เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
  • ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ (ทุกหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดุแลสุกร การล้างทำความสะอาดคอกหมู)
  • ผู้ชำแหละเนื้อสุกร
  • สัตวบาล
  • สัตวแพทย์
  • คนที่ชอบรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
โรคหูดับ อาการเป็นอย่างไร

          ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ Streptococcus suis เข้าสู่ร่างกายภายใน 3-5 วัน จะมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และในกรณีที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด และลุกลามไปสู่เยื่อหุ้มสมอง เจ้าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบตามมา และเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับปลายประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม และทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนกระทั่งมีอาการหูหนวก ร่วมกับอาการเวียนศีรษะ และเดินเซตามมาได้ รวมทั้งเกิดอาการ Toxic Shock Syndrome ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้

         หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้า อาจตกอยู่ในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงแก่ชีวิตได้ และแม้จะรักษาจนมีชีวิตรอดกลับมา ก็อาจตกอยู่ในสภาวะคนพิการ เช่น กลายเป็นคนหูหนวกทั้งสองข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก  กลุ่มเสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ  ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

ไข้หูดับ ป้องกันได้
  1. ควรบริโภคอาหารที่สุก ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมูควรผ่านการปรุงสุกที่ความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาทีเป็นอย่างต่ำ ก่อนนำมารับประทาน
  2. หากกินอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ต้องปรุงให้สุกก่อนเสมอ และแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน

  3. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
  4. ดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสหมู เนื้อสัตว์ เลือดสัตว์ ด้วยมือเปล่า และควรล้างมือ ฟอกสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสเนื้อหมูสด ๆ
  5. ไม่ควรนำหมูที่ป่วย หรือตายอย่างไม่ทราบสาเหตุมาบริโภค
  6. หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องร่วง หลังจากกินเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ ภายใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ด่วน

ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังสัมผัสหมูที่ป่วย หรือหลังรับประทานเนื้อหมูไม่สุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการรับประทานอาหารให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการหูหนวก และการเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ การรับประทานอาหาร สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ และบริโภคอาหารที่ปรุงสุก หากพบอาการผิดปกติใด ๆ หรือกำลังป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หรือสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ V Precision Clinic เรามีทีมแพทย์คอยแนะนำ ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และทีมงาน ที่มีความรู้ความชํานาญ เพื่อดูแลสุขภาพของคุณเฉพาะบุคคล เข้ามาปรึกษาที่ V Precision Clinic

เอกสารอ้างอิง

https://www.thaipbs.or.th/news/content/324761

https://health.kapook.com/view171862.html