เลขที่อนุมัติ ฆสพ.สบส. 7542/2565

ลมชักวายร้ายทำลายสมอง

ลมชักวายร้ายทำลายสมอง

โรคลมชัก (Epilepsy) เกิดจากการที่เซลล์สมองปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมามากผิดปกติ โดยแบ่งประเภทของโรคลมชักเป็น 2 ประเภท คือ โรคลมชักที่มีจุดกำเนิดชักเฉพาะที่หรือเกิดขึ้นกับสมองบางส่วน (Focal epilepsy) และโรคลมชักที่กระจายไปทั่วสมอง 2 ข้างอย่างรวดเร็ว (Generalized epilepsy) ซึ่งสาเหตุของโรคลมชักจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ เช่น ในกลุ่มเด็ก พบว่าอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสมองที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือมีการติดเชื้อในสมองและจากไข้สูง เป็นต้น ในกลุ่มผู้ใหญ่ พบว่ามีสาเหตุจากอุบัติเหตุทางสมอง เนื้องอกสมอง เป็นต้น ในกลุ่มผู้สูงอายุ มักมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตาม พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคลมชัก มักไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด

โรคลมชัก พบบ่อยแค่ไหน

          จากสถิติพบว่าโรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย ประมาณ 70 ใน 1,000 คน สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ในประเทศไทยขณะนี้มีผู้ป่วยโรคลมชัก ประมาณ 6-7 แสนคน  อย่างไรก็ตาม อาการชักมักเกิดได้ง่ายกับเด็กเล็กที่อยู่ในวัย 6 เดือนถึงราว ๆ 4-6 ขวบ หรือผู้สูงอายุที่สมองเริ่มเสื่อมลง ซึ่งอาจเกิดจากการมีไข้สูง เกลือแร่ในร่างกายแปรปรวน การได้รับยากระตุ้นสมองบางชนิด หรือการถูกกระตุ้นด้วยแสงแวบ ๆ เป็นเวลานานพอ 

ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถมีอาการชัก (seizures) โดยไม่มีเหตุกระตุ้น ขณะที่ผู้ป่วยบางส่วนอาจเกิดอาการชักเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น เมื่อมีการอดนอน มีความเครียด

รูปแบบอาการชัก (seizure) จะแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบง่าย ๆ ได้แก่

  1. อาการชักแบบเกร็ง กระตุก
  2.  อาการชักแบบเหม่อลอย ผู้ป่วยอาจทำอะไรไม่รู้ตัว มีการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ เช่น มีการเคี้ยวปาก มือคลำสิ่งของหรือเสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งคนทั่วไปมักไม่ทราบว่าลักษณะนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของอาการชัก

 

ทั้งนี้ พบว่าหากผู้ป่วยมีอาการชักบ่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก อาจส่งผลต่อพัฒนาการที่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามช่วงอายุ ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการชักบ่อยส่งผลต่อเซลล์สมองอย่างไร แต่พบว่าในช่วงหลังจากเกิดอาการชักใหม่ ๆ ภายใน 5 นาที – 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยอาจทำอะไรช้าลง สับสน ซึ่งจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

สาเหตุของโรคลมชัก

 ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคลมชักได้อย่างชัดเจน ว่าเหตุใดสมองจึงเสียความสมดุลจนปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติออกมา แต่พอวิเคราะห์หาสาเหตุบางส่วนที่อาจเกี่ยวข้องได้ ดังนี้

  1. เกิดจากกรรมพันธุ์ โดยจากการซักประวัติครอบครัวของผู้ป่วยส่วนหนึ่งพบว่า มีญาติพี่น้องที่ป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน
  2. เกิดจากการที่สมองเคยได้รับอันตรายมาก่อน เช่น มีการติดเชื้อในสมอง ภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง การติดเชื้อของระบบประสาท ความผิดปกติทางสมองมาตั้งแต่กำเนิด หรือสมัยเด็กเคยมีไข้สูงจนชักนาน และชักติดต่อกันหลาย ๆ ครั้ง โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักจากสาเหตุเหล่านี้ อาจจะมีพัฒนาการด้านร่างกายและสมองผิดปกติร่วมด้วย
  3. เกิดจากภาวะมีก้อนในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง พยาธิในสมอง
  4. โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ แตกหรือตีบตัน
  5. โรคทางกาย เช่น ภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายสูงหรือต่ำ น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ แคลเซียมในเลือดต่ำ รวมถึงโรคตับโรคไต
  6. การดื่มเหล้ามากเกินไปจนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง การเสพยาเสพติดเกินขนาด หรือได้รับสารพิษจากการใช้ยาบางชนิดเกินขนาด เป็นต้น 

อาการลมชัก อาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ หากปล่อยให้เป็นเนิ่นนานโดยไม่เข้ารับการรักษา แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบางรายก็สังเกตเห็นได้ยาก ดังนั้น คนใกล้ตัวคงต้องช่วยกันสังเกตด้วยอีกแรง หากเห็นคนรู้จักมีพฤติกรรมแปลก ๆ ชอบวูบ เหม่อลอย นิ่ง หรือชักเกร็งทั้งแบบรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ก็ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หรือสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ V Precision Clinic เรามีทีมแพทย์คอยแนะนำ ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และทีมงาน ที่มีความรู้ความชํานาญ เพื่อดูแลสุขภาพของคุณเฉพาะบุคคล เข้ามาปรึกษาที่ V Precision Clinic

Relate Article