สัญญาณบอกว่า ‘ลำไส้’ กำลัง ‘แปรปรวน’
อาการหลักของโรคลำไส้แปรปรวนคือ อาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยหรือใต้สะดือ โดยมักมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการท้องผูกหรือท้องเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการท้องผูกและท้องเสียสลับกัน ส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดมักบรรเทาลงหลังจากถ่ายอุจจาระ นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจยังมีอาการท้องอืด แน่นท้อง เรอบ่อย และมักมีลมออกมามากเวลาถ่ายอุจจาระ
ทำไมลำไส้ถึงแปรปรวน
สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า สภาพจิตใจที่อยู่ในภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ตื่นเต้น หรือโกรธ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ลำไส้บีบตัวหรือเคลื่อนตัวมากผิดปกติ โดยเฉพาะ ‘ความเครียด’ ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร อย่าง Dr. Douglas A. Drossman จาก สถาบันโรคทางเดินอาหารดรอสแมน (Drossman Gastroenterology) เคยกล่าวไว้ว่า “ความเครียดมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับโรคลำไส้แปรปรวนเป็นอย่างมาก”
นอกจากนั้น ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ทำให้แบคทีเรียในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี จนอาจก่อให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวน คือ อาหารประเภทเนื้อแดง ไข่ อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะเป็นจำนวนมาก เช่น นม ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสป่วยโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป
- ผู้หญิง มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงการมีรอบเดือน
- กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงช่วงอายุประมาณ 40-50 ปี
- ผู้ที่ครอบครัวมีคนเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จะมีแนวโน้มในการเกิดโรคนี้ได้ 2-3 เท่า
- ผู้ที่มีความเครียดเป็นประจำ
ลําไส้แปรปรวน อาการเป็นแบบไหนบ้าง
ลักษณะอาการลำไส้แปรปรวนที่เด่น ๆ คือ ปวดท้อง โดยเกิดร่วมกับการขับถ่ายที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นท้องผูก ท้องเสีย หรือทั้งท้องผูกและท้องเสีย ดังนี้
- มีอาการปวดท้องบริเวณท้องน้อย ลักษณะปวดเกร็ง อาจปวดมากหรือปวดน้อยก็ได้ โดยอาการปวดท้องจะทุเลาหลังขับถ่าย ผู้หญิงบางคนอาจปวดมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือน
- มีอาการปวดท้อง และท้องผูก โดยถ่ายแข็ง หรือคล้ายลูกกระสุน และอาจมีอาการถ่ายไม่หมดหรือถ่ายแล้วมีมูกเลือดปน
- มีอาการปวดท้อง และท้องเสีย มักเป็นในช่วงเช้าก่อนทำงานหรือหลังรับประทานอาหาร และอาจมีอาการถ่ายไม่หมดหรือถ่ายแล้วมีมูกเลือดปน
- มีอาการปวดท้อง และท้องผูกสลับกับท้องเสีย ทั้งนี้ต้องมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเด่นกว่าอีกอย่าง
- มีอาการท้องอืด แน่นท้อง มีลมมากในท้อง เรอบ่อย เวลาขับถ่ายมักมีลมออกมาด้วย
ทั้งนี้ จะต้องมีอาการลักษณะดังกล่าวมานานอย่างน้อย 3-6 เดือน และต้องมีอาการปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาการปวดท้องเกิดขึ้นสัมพันธ์กับการขับถ่าย จึงจะถือว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวน
อาการลำไส้แปรปรวน คล้ายกับโรคอะไรบ้าง
- ท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียเรื้อรัง : แต่ทั้ง 2 โรคนี้จะไม่มีอาการปวดท้อง เป็นอาการเด่นเหมือนกับโรคลำไส้แปรปรวน
- ภาวะลำไส้สั้น : เกิดจากการผ่าตัดลำไส้บางส่วนออกไป ทำให้ลำไส้ส่วนที่เหลือทำงานผิดปกติ จึงมีอาการท้องร่วงหรือขับถ่ายในปริมาณมาก
- โรคลำไส้อักเสบ : มีอาการปวดบีบที่ท้อง ขับถ่ายเหลวเป็นน้ำ มูก หรือมูกเลือด ถ่ายบ่อยหรือต้องลุกขึ้นมาถ่ายกลางดึก อาจมีไข้สูงหรือต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ : มีอาการปวดท้องเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย หรือท้องเสียเรื้อรัง ขับถ่ายเป็นเลือดหรือเป็นมูกเลือดปนมา ถ่ายไม่สุด น้ำหนักลด คลำเจอก้อนบริเวณหน้าท้อง
- โรคกระเพาะอาหาร : มีอาการปวดท้องส่วนบน
เราสามารถป้องกันอาการลำไส้แปรปรวนได้ ดังนี้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะจะช่วยคลายความเครียด และกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ทั้งนี้ควรออกกำลังกายตามความเหมาะสมของร่างกาย และไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป
- พยายามไม่เครียด เพราะจะทำให้ลำไส้ใหญ่มีอาการเกร็งและแปรปรวน ควรทำจิตใจให้สบาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอาหารเช้า เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายและมีกากใย เช่น ข้าวกล้อง ฟักทอง เป็นต้น
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อไปหล่อลื่นระบบขับถ่าย ช่วยให้กากอาหารอ่อนตัว ไม่เกิดอาการท้องผูก
อาการลำไส้แปรปรวนแม้ไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าหากเราลดพฤติกรรมเสี่ยงทั้งเรื่องการเลือกอาหารที่มีประโยชน์และลดความเครียด หลายคนเคยมีอาการของโรคนี้ หรือบางคนอาจป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวนเรื้อรังมานานหลายปีโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ สามารถเข้ามาเช็คอาการได้ที่ V Precision Clinic เรามีทีมแพทย์คอยแนะนำ ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และทีมงาน ที่มีความรู้ความชํานาญ เพื่อดูแลสุขภาพของคุณเฉพาะบุคคล เข้ามาปรึกษาที่ V Precision Clinic