สัญญาณเตือนภัยคุณอาจเป็นโรคอัลไซเมอร์

สัญญาณเตือนภัยคุณอาจเป็นโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ คือ โรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้าอะไมลอยด์ (Beta Amyloid) ไปจับตัวอยู่ที่เซลล์สมอง ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหาย ส่งผลโดยตรงกับการทำงานของสมอง จนเกิดอาการอัลไซเมอร์ เช่น ความทรงจำ ความคิด การใช้ภาษา การตัดสินใจ

สัญญาณเตือนภัย! โรคอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์ หนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานโครงสร้างเนื้อเยื่อในสมอง ความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง เซลล์ในสมองตายหรือไม่ทำงาน ทำให้สมองส่วนที่เหลือทำงานได้ไม่เต็มที่ มักพบในผู้สูงอายุร้อยละ 60-80 ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด ที่น่ากลัวคือโรคนี้ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาให้หายได้และถ้าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาจะเกิดภาวะสมองเสื่อมรุนแรงจนในที่สุดผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ไม่สามารถแยกแยะถูกผิดและในระยะสุดท้ายจะสูญเสียความทรงจำทั้งหมด แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ลองมาทำความรู้จักกับโรคและสัญญาณเตือนความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์กัน

เช็คสัญญาณเตือนเสี่ยงอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งมักจะพบในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม และอาการหลงลืม

  • ไม่สามารถทำสิ่งที่คุ้นเคยได้
  • สูญเสียความทรงจำ
  • มีปัญหากับการเข้าใจภาพที่เห็น
  • สับสนกับเวลา และสถานที่
  • มีปัญหากับการวางแผน หรือการแก้ไขปัญหา
  • ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ไม่ดี
  • อารมณ์ และลักษณะนิสัยเปลี่ยนแปลง
  • วางของไม่เป็นที่เป็นทาง
  • ขาดความสนใจสิ่งรอบตัว หรือสิ่งที่เคยชอบ
  • ลำบากในการพูด หรือเขียน

อาการของโรคอัลไซเมอร์จะกินเวลาหลายปี และแสดงอาการตามระยะเสื่อมของสมอง 3 ระยะ

อาการสมองเสื่อมระยะแรก

อาการสมองเสื่อมระยะแรก : อาการระยะแรกของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เริ่มจากขี้หลงขี้ลืม ลืมเรื่องที่เพิ่งพูดไปหรือลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ชอบถามคำถามเดิมๆซ้ำๆ มีความลังเล ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆได้ ทำให้มีความวิตกกังวลมากขึ้น ตื่นตกใจง่าย และอาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้

อาการสมองเสื่อมระยะปานกลาง

อาการสมองเสื่อมระยะปานกลาง : ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเข้าขั้นสมองเสื่อมระยะแรก และคิดว่าเป็นเพียงความหลงลืมชั่วคราวหรือเป็นเรื่องปกติ อาจเป็นความคิดที่ผิดได้ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ปัญหาความจำอาจแย่ลงจนไม่สามารถจำชื่อคนรู้จักได้ ไม่สามารถลำดับเครือญาติหรือแยกคนใกล้ชิดได้ว่าใครเป็นใคร รวมถึงอาจมีอาการสับสน ลืมวันเวลา ประกอบกับนอนไม่หลับ และที่พบบ่อยคือหลงทาง หาทางกลับบ้านเองไม่ได้ ความรุนแรงของอาการสมองเสื่อมระยะนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายกว่าปกติ หรือรุนแรงถึงทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซึมเศร้าได้

อาการสมองเสื่อมระยะสุดท้าย

อาการสมองเสื่อมระยะสุดท้าย : อาการระยะที่รุนแรง ผู้ป่วยจะเกิดภาพหลอน เรียกร้องความสนใจ หรือก้าวร้าวขึ้น มักมีอาการทางกาย เช่น เคี้ยวอาหาร และกลืนได้ลำบาก เคลื่อนไหวช้าลง หรือไม่สามารถเดินเองได้ ปัสสาวะ หรืออุจจาระเล็ดเนื่องจากกลั้นไม่อยู่ และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องง่ายๆ เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ

วิธีการป้องกันภาวะสมองเสื่อมเพื่อช่วยชะลอความเสี่ยงของโรคด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

  1. ไม่สูบบุหรี่
  2. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  4. กินอาหารที่มีประโยชน์
  5. ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง
  6. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  7. ควบคุมน้ำหนัก
  8. พบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อยๆ
  9. ตรวจสุขภาพประจำปี
  10. ฝึกการทำงานของสมอง เช่นอ่านหนังสือ เล่นเกมเป็นต้น

ภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถชะลอความเสื่อมได้ นอกจากนี้หากสงสัยว่าผู้สูงอายุอาจมีภาวะสมองเสื่อมควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยญาติ หรือคนใกล้ชิดจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม

นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ หรือกำลังป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หรือสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ V Precision Clinic เรามีทีมแพทย์คอยแนะนำ ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และทีมงาน ที่มีความรู้ความชํานาญ เพื่อดูแลสุขภาพของคุณเฉพาะบุคคล เข้ามาปรึกษาที่ V Precision Clinic

Relate Article