โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) เป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ หรือสารเคมีเข้าไป ซึ่งสาเหตุโดยส่วนใหญ่ คือ อาหารเน่าเสีย มักเกิดบ่อยครั้งมากขึ้นในฤดูร้อน เนื่องจากอากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลให้อาหารเสียได้ง่ายเช่นกัน โดยปกติแล้วอาการของโรคอาหารเป็นพิษสามารถรักษาให้หายดี และไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรป้องกัน และรักษาสุขภาพโดยไม่ชะล่าใจ
อาการของโรคอาหารเป็นพิษ
- มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน
- ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย และอาจมีไข้ร่วมด้วย
แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอย่างผิดปกติ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ดังนี้
- มีอาการท้องเสียเป็นเลือด หรือท้องเสียติดต่อกันนานกว่า 3 วัน
- มีไข้สูงกว่า 38.9 องศาเซลเซียส
- มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง
- เริ่มมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อย เวียนศีรษะ ปาก และคอแห้ง
ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษได้อย่างไร?
- เลือกรับประทานอาหารที่สุก ร้อน และสะอาด
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารค้างคืน โดยเมื่ออาหารมีกลิ่น หรือรสชาติแปลกไปจากเดิม ไม่ควรรับประทานต่อโดยเด็ดขาด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อาหารที่ไม่ต้องผ่านการปรุงสุกอย่างสลัด หรือส้มตำ
ควรเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) อย่างไม่ละเลย โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนจัด ร่วมกับการหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานของดิบ หรืออาหารที่ไม่สะอาดเพื่อป้องกันการเกิดโรค และเผชิญอาการผิดปกติต่าง ๆ ดังกล่าว ซึ่งสร้างความทรมานให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
Reference
Sumimol L. (12 สิงหาคม 2566). อาหารเป็นพิษ ควรกินอะไร และไม่ควรกินอะไร. Sanook.
https://www.sanook.com/women/241005/
ThaiHealth Official. (16 กุมภาพันธ์ 2564). อากาศร้อนขึ้น เสี่ยงอาหารเป็นพิษ.
https://www.thaihealth.or.th/?p=234225
Center for Disease Control and Prevention. (5 January 2024). Food Poisoning Symptoms.
https://www.cdc.gov/foodsafety/symptoms.html