โซเดียมสูงเสี่ยงไตพัง

โซเดียมสูงเสี่ยงไตพัง

โซเดียมคือ เกลือแร่ (สารอาหาร) ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย) ตลอดจนการดูดซึมสารอาหาร บางอย่างในไต และลำไส้เล็ก โซเดียมที่เราบริโภคกันเป็นประจำ ก็คือโซเดียมที่อยู่ในรูปของ “เกลือแกง” (เกลือ มีส่วนประกอบอยู่ 2 อย่าง คือโซเดียมกับคลอไรด์) และน้ำปลา ซึ่งมีรสเค็ม จากการสำรวจพบว่าคนไทยกินเกลือที่มีอยู่ในอาหารและเครื่องปรุงรส โดยเฉลี่ยวันละประมาณ 7 กรัม

กินโซเดียมมากไปเสี่ยงโรคอะไร

แม้โซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่การรับประทานมากเกินไปและติดต่อกันเป็นเวลานานก็นำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้ โดยโรคที่พบบ่อยจากการได้รับโซเดียมปริมาณสูง มีดังนี้

โรคไตเรื้อรัง

เนื่องจากไตทำหน้าที่ขับโซเดียมส่วนเกิน การรับประทานโซเดียมสูงจึงให้ไตทํางานหนักขึ้น หากรับประทานเป็นประจำและติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ยิ่งทำให้ไตเกิดความเสื่อมเร็วขึ้น

ภาวะความดันโลหิตสูง

การรับประทานอาหารโซเดียมสูงนำไปสู่การมีโซเดียมในกระแสเลือดมากขึ้น โดยปริมาณโซเดียมที่มากนี้ทำให้เกิดกลไกการดึงน้ำในร่างกาย ให้เข้ามาในหลอดเลือดมากกว่าปกติ ระบบหัวใจและหลอดเลือดจึงต้องทำงานหนัก เพื่อรับมือกับปริมาณของเหลวในกระแสเลือดที่เพิ่มขึ้น จนนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงได้ โดยการบริโภคอาหารโซเดียมสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ และคนอ้วน ซึ่งหากไม่ควบคุมและทำการรักษา ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

โรคกระดูกพรุน

การกินโซเดียมปริมาณมากทำให้ร่างกายต้องขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ซึ่งกลไกการขับโซเดียมออกนี้ทำให้มีการขับธาตุแคลเซียมที่เกี่ยวข้องกับกระดูกออกมาด้วย ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนได้

       อาหารปรุงแต่งมาก อาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการต่างๆ จะมีโซเดียมสูง ถ้ากินอาหารแปรรูป หรืออาหารสำเร็จรูปมากหรือบ่อยเท่าไหร่ เราก็จะได้รับโซเดียมส่วนเกิน วันละเยอะแยะมากมาย ทั้งที่ความจริงแล้ว ร่างกายต้องการเกลือ ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะร่างกายไม่สามารถทนรับเกลือในปริมาณมากๆ ได้โดยเฉพาะทารก และเด็กเล็ก ที่ไม่สามารถขับถ่ายโซเดียมได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่ พ่อแม่จึงไม่ควรเติมเกลือในอาหารของลูกเล็กๆ หรือซื้ออาหารสำเร็จมาให้ลูกกิน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็มีประกาศในเรื่องนี้ อย่างเคร่งครัด ที่ห้ามผู้ผลิตเติมเกลือหรือ สารประกอบโซเดียมใดๆ ในอาหารเด็ก การลดโซเดียมจึงเหมาะกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เพราะถ้ารับประทานโซเดียมในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นก็จะมีโอกาสเสี่ยงเกิดร้ายอื่นๆ ตามมาได้

ดังนั้น เมื่อเรารู้แล้วว่าโซเดียมคืออะไร อย่าลืมดูแลตนเองให้ห่างไกลจากปัญหาโซเดียมสูง ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดจ้าน ลดการเติมเครื่องปรุงปริมาณมาก หรือเลือกใช้เครื่องปรุงสูตรลด ไม่บริโภคอาหารที่ผ่านการแปรรูปมากจนเกินไป เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปริมาณของโซเดียมจากอาหารในแต่ละวันได้แล้ว หาท่านใดมีความต้องการอยากเช็คประเมินสุขภาพ หรือต้องการค้นหาความเสี่ยงก่อนการเกิดโรคสามารถเข้ามาปรึกษา V Precision Clinic เรามีทีมแพทย์คอยแนะนำ ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และทีมงาน ที่มีความรู้ความชํานาญ เพื่อดูแลสุขภาพของคุณเฉพาะบุคคล เข้ามาปรึกษาที่ V Precision Clinic