โรคทางระบบประสาท และสมอง เป็นโรคที่ดูเหมือนจะไกลตัว แต่แท้จริงแล้วคนไทยป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในวัยทำงาน อาจมีผลมาจากความเครียด การไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ หรือการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย คือ “โรคหลอดเลือดสมอง” เป็นโรคอันตรายที่อาจส่งผลให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้ หากไม่เข้ารับการรักษาอย่างเท่าทัน
โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร?
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ STROKE เป็น 1 ในสาเหตุที่สำคัญลำดับต้น ๆ ในการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ เกิดจากการที่หลอดเลือดเลี้ยงสมองเกิดอาการตีบตัน หรือแตกตามชนิดของโรค จนไม่สามารถส่งออกซิเจน และสารอาหารให้กับสมองได้ ส่งผลให้สมองถูกทำลายจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิต โดยโรคหลอดเลือดสมองมี 2 ประเภท ดังนี้
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke)
- โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke)
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่ไม่ปรากฏสัญญาณล่วงหน้า แต่จะมีอาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ควรนำป่วยผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
- อ่อนแรง หรือชาตามใบหน้า แขน หรือขาด้านใดด้านหนึ่ง
- พูด หรือทำความเข้าใจอะไรบางอย่างได้ยาก
- มีปัญหาด้านการมองเห็น
- ปวดหัวอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ ไม่สามารถทรงตัว หรือเดินได้อย่างปกติ
- อาจมีอาการเป็นลม หรือคลื่นไส้ร่วมด้วย
นอกจากนี้ สามารถจำลักษณะของอาการโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วยเทคนิค “FAST” ดังนี้
F (Face drooping) – ใบหน้าด้านหนึ่งอ่อนแรง เห็นได้ชัดเมื่อผู้ป่วยยิ้มแล้วรอยยิ้มไม่สม่ำเสมอกับอีกด้าน
A (Arm weakness) – แขนข้างหนึ่งอ่อนแรง เห็นได้ชัดเมื่อผู้ป่วยยกแขนขึ้น แต่มีแขนข้างหนึ่งค่อย ๆ ตกลง
S (Speech difficulty) – ผู้ป่วยมีอาการพูดได้ลำบากกว่าปกติ ไม่สามารถคิด หรือพูดประโยคง่าย ๆ ได้อย่างปกติ
T (Time) – เมื่อพบกับผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดทันที
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- พันธุกรรม
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- โรคเรื้อรังประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
- การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไขมันทรานส์
- การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- การขาดการออกกำลังกาย
- การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์
ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร?
- งดสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
- รักษาน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคร้ายแรงที่อาจนำไปสู่ความพิการ หรือเสียชีวิตได้ อย่าคิดว่าเป็นโรคที่ไกลตัว เพราะแนวโน้มตัวเลขของผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีทั่วโลก ควรสังเกตอาการคนรอบข้าง หรือตนเองเป็นประจำเพื่อการเฝ้าระวัง พร้อมเข้ารับการรักษาได้อย่างเท่าทัน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือทุกนาทีมีคามหมายกับการรักษาโรคนี้ ยิ่งนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้เร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษา และอัตราการรอดชีวิตมากขึ้นเท่านั้น
Reference
กรมควบคุมโรค. (28 ตุลาคม 2565). กรมควบคุมโรค รณรงค์วันโรคหลอดเลือดสมองโลก หรือวันอัมพาตโลก
2565 เน้นสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองให้กับประชาชน. https://pr.moph.go.th/print.php?url=pr/print/2/02/180623/
ThaiHealth Official. (20 พฤศจิกายน 2561). รู้ก่อนเป็น…โรคหลอดเลือดสมอง.
https://www.thaihealth.or.th/?p=228033
Kimberly Holland. (9 November 2021). Everything You Need to Know About Stroke. Healthline.