เลขที่อนุมัติ ฆสพ.สบส. 7542/2565

โรคหัวใจเช็คให้ไว!

โรคหัวใจเช็คให้ไว!

  โรคหัวใจ เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ บางรายอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนมาก่อน เช่น เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกาย เจ็บหน้าอกขณะออกแรง หรือหายใจลำบาก แต่บางรายก็ไม่มีสัญญาณเตือนเป็นอาการแสดงใดๆ คนเป็นจำนวนมากที่หลงคิดไปว่าอาการที่ตนเองเป็นอยู่บ่อยๆ เป็นอาการของโรคที่ไม่ร้ายแรง และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ

ใครบ้าง?...ที่เสี่ยงเป็น “โรคหัวใจ”

  • ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนได้ เช่น การสูบบุหรี่ มีความเครียด ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีไขมันสูงหรือรสเค็มจัด การมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และพยายามควบคุมรักษาระดับความรุนแรงของโรคที่เป็นให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ในการดูแลของแพทย์
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ด้านพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจ เราก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสูงกว่าคนทั่วไป
  • อายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ตะกรันไขมันที่พอกพูนสะสมผ่านวันเวลาที่ยาวนานก็มักมากขึ้นตามอายุ ทำให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดตีบสูงขึ้น
  • เพศ จากงานวิจัยต่างๆ แสดงให้เห็นว่า โรคหลอดเลือดหัวใจนั้นเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ช่วยควบคุมปริมาณไขมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น เช่นกัน

ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจ

  • ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่ชื่นชอบการทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม
  • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ รวมทั้งผู้ที่ใกล้ชิดกับบุคคลที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท และรู้สึกอ่อนเพลียเป็นประจำ

ไม่มีประวัติโรคหัวใจ ใช่ว่าไม่เสี่ยง!

การเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหันมี 2 สาเหตุหลักที่พบได้บ่อย คือ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบฉับพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตราย และน่ากลัว เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีการแสดงอาการที่บ่งบอกให้รู้ แม้ว่าหลอดเลือดจะตีบไปแล้วกว่า 50% แต่หากหัวใจยังสูบฉีดเลือดได้ก็จะไม่แสดงอาการใดๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็น

หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติอัตราการเต้นของหัวใจที่ จะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที ซึ่งเท่ากับว่า…หากอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที หรือ สูงกว่า 100 ครั้ง/นาที จะถูกนับว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้น้อยลง… นำไปสู่ภาวะหัวใจวาย!

การดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง

สามารถดูแลสุขภาพหัวใจได้ โดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพิ่มการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เน้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก พยายามออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที และควบคุมอาหารให้ดี หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารเค็มจัด มันจัด ดื่มน้ำเปล่ามากๆ เลือกผัก และผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเป็นการคัดกรองภาวะที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันได้ โดยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจเพื่อรับการตรวจตามความเหมาะสม และความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

“การตรวจสุขภาพ” ที่นับเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการตรวจคัดกรอง “โรคหัวใจ” สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ เพราะการตรวจจะช่วยทั้งคัดกรอง ค้นหาความเสี่ยง และพบความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ การป้องกัน ชะลอการลุกลาม และรักษาให้ดีขึ้นก่อนที่จะสายเกินไป นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ หรือกำลังป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หรือสามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ V Precision Clinic เรามีทีมแพทย์คอยแนะนำ ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และทีมงาน ที่มีความรู้ความชํานาญ เพื่อดูแลสุขภาพของคุณเฉพาะบุคคล เข้ามาปรึกษาที่ V Precision Clinic

เอกสารอ้างอิง

https://www.pptvhd36.com/health/care/3000

https://www.thairath.co.th/lifestyle/health-and-beauty/2401936