โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถพบได้ทุกช่วงอายุเกิดจากการติดเชื้อของไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจซึ่งอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย และติดต่อกันผ่านการไอ จาม หรือหายใจรดกัน เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วจะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก ปวดเมื่อยตามตัวและอ่อนเพลีย ไม่มีแรง แต่สำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้อันตรายถึงชีวิตได้ อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ เริ่มแรกอาจจะเหมือนการเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาซึ่งจะค่อยๆ แสดงอาการออกมา
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ (ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน)
- มีไข้สูง 39-40 องศา
- หนาวสั่น และเหงื่อออก
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- เจ็บคอและไอแห้ง
- มีน้ำมูก จาม
- ปวดบริเวณรอบดวงตา
- ปวดศรีษะและปวดเมื่อยตามร่างกาย
- โดยปกติจะมีไข้ 2-4วัน แล้วไข้จะค่อยๆ ลดลง แต่ยังมีอาการคัดจมูกและแสบคอประมาณ 1 สัปดาห์ถึงหาย
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ (ที่มีโรคแทรกซ้อน) **ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
- อาการอับเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หรือมีอาการหัวใจวาย
- อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดศรีษะอย่างมาก และมีอาการซึมลง
- อาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โดยผู้ป่วยจะเหนื่อยง่าย หอบ หายใจเร็ว แน่นหน้าอกและอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก จมูก หรือขยี้ตา
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด พื้นที่ที่ไม่มีอาการถ่ายเทเป็นเวลานาน
- ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด ถ้าหากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ได้แก่ แก้วน้ำ ช้อมส้อม หลอดดูดน้ำ
- ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าปิดปาก และจมูก
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่และลดความรุงแรงของโรคได้ดีที่สุด
การดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่
- โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะหายเอง สามารถดูแลและรักษาตัวตามอาการที่บ้านได้
- หากผู้ป่วยมีไข้ สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และรับประทานยาพาราเซตามอลได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงยากลุ่มแอสไพริน
- หากมีน้ำมูก สามารถใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ไม่ควรออกกำลังกาย
สาเหตุของการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการสัมผัสเชื้อไวรัสจากละอองฝอยในอากาศ อาจเกิดจากตอนผู้ป่วยไอ จาม หรือกำลังพูดคุย จึงอาจสูดรับเชื้อโรคทางลมหายใจ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนแสดงอาการไปจนถึง 5 วันหลังแสดงอาการ สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่าคนทั่วไป เชื้อไวรัสไขหวัดใหญ่มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี