“อัลไซเมอร์” หนึ่งในโรคทางระบบประสาท และสมองที่พบผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี เกิดจากความเสื่อมถอยของระบบประสาท และการทำงานของเซลล์ในสมองที่ผิดปกติ มักมาพร้อมกับความแก่ชราของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านความทรงจำ มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ ไปจนถึงขั้นเกิดภาวะสมองเสื่อม และไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้ อีกทั้งในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด มีเพียงการชะลออาการของโรค และปรับปรุงอาการร่วมต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ทำความรู้จักอาการโรคอัลไซเมอร์
อาการในระยะแรกของอัลไซเมอร์สามารถสังเกตได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายคลึงกับคนที่ขี้หลงขี้ลืมทั่วไป แต่เมื่อเริ่มมีอาการเหล่านั้นบ่อยครั้ง หรือเป็นหนักขึ้นจะมีอาการร่วมดังนี้
- มีปัญหาด้านความทรงจำบ่อยครั้ง
- ความมั่นคงด้านอารมณ์น้อยลง
- หมดความสนใจกับงานอดิเรกของตนเอง
- ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยากลำบาก
- มักไม่อยากริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ
- ไม่สามารถจดจ่อกับบทสนทนาได้ มักหลุดจากหัวข้อการสนทนา
แนวทางการป้องกันโรคอัลไซเมอร์
- เพิ่มความกระตือรือร้นให้กับสมอง เช่น การเรียนรู้สิ่งใหม่
- งดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสมอง
สารอาหารที่ดีต่อการทำงานของระบบประสาท และสมอง
- โอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนช่วยสำคัญในการเสริมสร้าง และซ่อมแซมเซลล์สมอง เช่น ปลาทูน่า ไข่
- สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มเซลล์สมอง เสริมสร้างความสามารถในการคิด และความจำ มักพบได้จากผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น สตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี และผักต่าง ๆ เช่น กระเทียม บล็อกโคลี่ แครอท
- โปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยสำคัญในการเพิ่มสารสื่อประสาทให้กับสมอง ช่วยให้ร่างกายสมดุล มักพบได้จากพืชตระกูลถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ และธัญพืชต่าง ๆ
- อาหารที่กระตุ้นการผลิตเซโรโทนิน ซึ่งทำให้รู้สึกผ่อนคลายสมอง เช่น ช็อกโกแลต กล้วย
- วิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี
- เรสเวอราทรอล (Resveratrol) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารที่ช่วยเรื่องการชะลอวัย และช่วยป้องกันภาวะความจำเสื่อม มักพบได้จากองุ่นแดง บลูเบอร์รี
นอกจากการรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท และสมองแล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันเลวสูง (LDL) โดยการใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าวในการประกอบอาหารแทนการใช้น้ำมันหมู รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารจานด่วนร่วมด้วย
โรคอัลไซเมอร์ อีกหนึ่งโรคอันตรายของวัยชราที่เมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และลดคุณภาพการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของผู้ป่วย ดังนั้น วิธีการที่ดีต่อสุขภาพที่สุด คือการหมั่นดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากิจกรรมใหม่ ๆ ทำเพื่อให้สมองได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง หรือการชะลอวัยก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สำคัญในการป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่มาพร้อมกับความชรา หากอายุทางชีวภาพ (Biological Age) ของเราต่ำกว่าอายุจริง หรือมีอัตราน้อยลง ความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ก็จะน้อยลงเช่นกัน
Reference
ผู้จัดการ ออนไลน์. (16 กันยายน 2562). 6 ขุมพลังบำรุงสมองคนวัยทำงาน. กรมสุขภาพจิต.
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29956
ผู้จัดการ ออนไลน์. (27 มกราคม 2561). 10 อาหารบำรุงสมอง ป้องกันสมองเสื่อม. กรมสุขภาพจิต.
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27484
ThaiHealth Official (22 ตุลาคม 2562). อาหารบำรุงระบบประสาท.
https://www.thaihealth.or.th/?p=226977
healthdirect. (July 2022). Alzheimer’s disease.